Training

Red Hat Linux Distro

24 Feb 2012

หากจะถามถึง Linux ที่เป็นผู้นำตลาด องค์กรต่างๆมักจะเลือกใช้ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ชื่อที่นึกถึงเป็นอันดับต้นๆคงหนีไม่พ้น Red Hat บทความนี้จะแนะนำให้คุณรู้จักกับ Distro ตัวนี้ ประวัติความเป็นมา และจุดเด่นของมัน (บทความนี้เป็นหนึ่งในบทความจาก "The Linux Distro Series")

ทำไมต้อง Red Hat

หากคุณกำลังมองหา Linux Distro สักตัวหนึ่งเพื่อเริ่มต้น แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นกับตัวไหนดี จะเอาไปใช้ทำอะไรก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ชัดเจน อนาคตจะเป็น Linux Admin? จะเปิดบริษัทเองอยากเอามาทำ Server? เอาใช้เป็น Desktop ใช้งานทั่วไป? หากยังตอบตัวเองไม่ได้ รู้แต่ว่ากำลังจะเริ่มต้น Red Hat ถือว่าเป็นทางเลือกอันดับต้นๆได้เลย เพราะอะไรหรือ? มาหาคำตอบกัน

Red Hat ไม่ใช่ Distro ที่ดีที่สุด เพราะไม่มีตัวใดที่สมบูรณ์แบบทุกอย่าง แต่ Red Hat โดยรวมแล้วถือว่าน่าใช้มากเพราะเราจะได้ข้อดีดังต่อไปนี้: (จากการเลือกใช้)

  • ครองเจ้าตลาดองค์กร เนื่องจากมีประวัติความเป็นมายาวนาน และเป็น Distro ตัวแรกๆก็ว่าได้ (ตั้งแต่ปี 1993 โน่น) เอาง่ายๆว่า Enterprise Software ตัวดังๆอย่างเช่น Oracle Database, WebSphere Application Server, IBM DB2 ล้วนแล้วแต่ Certified ว่าลงบน Red Hat ได้ หาก Software ที่เราจะใช้ไม่การันตีว่าจะลงกับ Distro ที่เราใช้ได้ เราก็คงไม่กล้าซื้อ ดังนั้นองค์กรต่างๆจึงเลือก Red Hat เป็นอันดับต้นๆ
  • นอกจากนี้ Red Hat ยังรองรับสถาปัตยกรรมของ CPU ที่นอกเหนือจาก x86 ด้วย เช่น Power ของ IBM เพราะฉะนั้นองค์กรที่เลือกใช้ชิป Power แต่จะลง Linux ก็คงมีทางเลือกไม่มาก (Distro ตัวอื่นอาจลงได้แต่ IBM ไม่ Certified จบ !!!)
  • หางานทำง่ายน่ะสิถ้างั้น :) หากเราคุ้นเคยและชำนาญการใช้งานมัน เราก็คงหางานทำได้อย่างสบาย
  • มี Certification Programs ที่เป็นที่ยอมรับ โลกนี้มี Linux Certification อยู่ไม่กี่ตัว ของ Red Hat เค้าเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว
  • ใช้การจัดการแพ็คเกจแบบ RPM อันนี้สำคัญมาก เพราะ Softwares ส่วนใหญ่ที่บอกว่าลงบน Linux ได้มักจะมาในรูปของ RPM นอกจากนี้ในตอนแรก RPM (Red Hat Package Manager) ยังถูกคิดค้นมาเพื่อใช้กับ Red Hat โดยเฉพาะด้วย
  • ประสิทธิภาพและคุณภาพโดยรวมก็ถือว่าดีมาก ไม่ใช่ Linux Distro Toys หรือ Hobbies ที่เราไม่สามารถฝากชีวิตไว้ได้
  • มีบริษัทขนาดใหญ่เป็นแบ็คอัพ นั่นก็คือ Red Hat Inc นั่นเอง
  • มี Update และ Support ที่แข็งแกร่งและยาวนาน เพราะถ้าใช้เป็น Server คงไม่สามารถลงใหม่กันได้ตามใจชอบ อยากได้อะไรที่ลงแล้วใช้ยาวเลย
  • มี Community ที่ใหญ่และแข็งแกร่ง อันนี้สำคัญมาก เพราะใช้ใหม่ๆเดี๋ยวก็ติดอันนู่นอันนี่ จะได้มีคนให้ถามได้ การหาข้อมูลก็ง่าย หนังสือก็มีเยอะ Search ข้อมูลก็ง่าย ปัญหาที่เราเจอคนอื่นก็เจอไม่กลัว :p
  • รองรับฟีเจอร์ระดับ Enterprise สั้นๆเพราะไม่ใช่ Admin เลยไม่รู้รายละเอียด แต่นิตยสาร เว็บไซต์ต่างๆชอบพูดถึงกัน ประมาณว่า Distro ตัวอื่นไม่รองรับนะ
  • รองรับ Virtualisation ได้ดี หากเราจะใช้ Cloud Services จาก Hosting ต่างๆ Red Hat ก็เป็นทางเลือกมาตราฐานอันหนึ่งอยู่แล้ว
  • และอื่นๆที่นึกไม่ออกนะ

บางอย่างมันก็ไม่ Works นะ

แหมพูดถึงแต่ข้อดี มันมีข้อเสียบ้างไหม? ก็แน่นอนหล่ะว่าต้องมีครับดังต่อไปนี้:

  • ไม่เหมาะกับการเป็น Desktop อะไรที่มันเหมาะกับการเป็น Server มันก็มักจะไม่เหมาะกับการเป็น Desktop นะครับ เพราะออกแบบมาคนละจุดประสงค์กัน แต่มันก็ไม่แย่อะไรนะครับแค่มันมีตัวอื่นที่เหมาะสมกว่าเท่านั้นเอง
  • รองรับ Hardwares และ Devices น้อย เช่นลงโน๊ตบุ๊กบางรุ่นแล้วใช้ Wifi ไม่ได้
  • เสียเงินค่าใช้ด้วยนะ เป็นค่า Subscription หรือไม่งั้นก็ต้องดาวน์โหลด Source มาคอมไพล์ใช้เอง ใครจะไปทำหล่ะโดยเฉพาะกับผู้เริ่มต้น

อ่านถึงข้อสุดท้ายแล้วอย่าเพิ่งตกใจว่าแนะนำ Red Hat ได้ไง ดูมันไม่เหมาะกับการเริ่มต้นเลย เพราะเรามี Distros ญาติสนิทชนิดคลานตามกันมาอย่าง Fedora, CentOS, และ Scientific นะครับ เพราะฉะนั้นโปรดอ่านต่อ

การใช้งานในชีวิตประจำวัน

หากว่าคุณดูข้อดีของ Red Hat แล้วคิดว่ามันน่าลอง แต่ติดตรงที่มันไม่เหมาะกับการนำมาใช้เป็น Desktop* ในชีวิตประจำวันแล้วหล่ะก็ผมมีข้อแนะนำครับ แต่ก่อนอื่นเราต้องรู้จักกับโมเดลธุรกิจของ Red Hat Inc. ก่อนครับ ปัจจุบัน Red Hat Inc. แบ่งผลิตภัณฑ์ Linux ออกเป็นสองตัวหลักๆดัวยกันคือ Red Hat Enterprise Linux (RHEL) และ Fedora โดยที่

  • RHEL Red Hat Linux
    • คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ขายผ่านการซื้อ Subscription, Support และอื่นๆ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเหมาะกับการเป็น Server นะครับ สรุปคือ RHEL คือตัวที่ใช้ทำเงินของ Red Hat Inc. เค้านะครับ
    • หากอยากใช้ฟรีก็มีเหมือนกันนะครับ แต่ต้องดาวน์โหลด Source มาคอมไพล์เองครับ
    • มีรอบการออกเวอร์ชันใหม่ที่ไม่บ่อยมาก เน้นการดูแลและ Support กันระยะยาว
    • Drivers ไม่รองรับมากมายเท่า Fedora เพราะเน้นเป็น Server
    • แต่ก่อนไม่มีการแบ่งแบบนี้จึงเรียก Red Hat เฉยๆ ดังนั้น Red Hat 6 และ RHEL 6 จึงไม่เหมือนกันนะครับ ออกห่างกันเกือบสิปปี
    • มี Desktop Edition ด้วยนะครับ เค้าเจาะตลาด Desktop องค์กร (แต่เจาะไม่เข้าหรอก เราใช้ Fedora ดีกว่า Cutting Edge กว่ากันเยอะ ไม่ต้องเสียตังค์ด้วย)
  • Fedora Fedora Linux
    • คือ ผลิตภัณฑ์ที่ให้ดาวน์โหลดใช้ฟรี
    • มีรอบการออกเวอร์ชันใหม่ที่ถี่มากคือทุกๆ 6 เดือน ใช่แล้วครับทุกๆ 6 เดือนคุณอ่านไม่ผิดหรอก ประมาณเดือน 4 และเดือน 11 ยังไม่ทันได้ใช้จริงจังเลยก็ออกใหม่แล้ว :( แต่ก็มีข้อดีคือเราจะได้แพ็คเกจและเทคโนโลยีที่ใหม่เสมอนะครับเมื่อเวลาที่เราจะลง จะได้ไม่ต้องมาลงของสามปีที่แล้ว แล้วก็ไล่อัพเดทเอา เค้าเลยเรียกเท่ๆว่า "Cutting Edge"
    • Red Hat Inc. ร่วมกับ Community ช่วยกันทำและสร้างสรรค์ Fedora ขึ้นมา ท้ายที่สุดฟีเจอร์ต่างๆก็จะถูกรวมเข้าไปใน RHEL อ่ะ เรามันหนูทดลองนี่นา อย่าไปซีเรียสครับ มันเป็นโมเดลทางธุรกิจ เค้าเรียกว่า Win-Win
    • Drivers รองรับเยอะกว่า RHEL จึงเหมาะใช้เป็น Desktop
    • แต่ก่อนตอนทำโมเดลนี้ใหม่ๆ (ปี 2003) ใช้ชื่อว่า Fedora Core
    • ระยะเวลาการ Support จะสั้นกว่า RHEL (หมายถึงออก Patch และ Update ที่สำคัญต่างๆ) แต่เราก็ Upgrade ได้นะครับมันก็จะยึดการ Support ไปนั่นเอง
    • บั๊ก บั๊ก บั๊ก ออกมันทุก 6 เดือนจะไม่ให้มีบั๊กคงเป็นไปไม่ได้ มันก็ไม่ใช่บั๊กอะไรที่ซีเรียสมากนะครับ ทุกปัญหาใน Linux มีทางแก้และมีคนแก้ให้เสมอ แต่จะ Search เจอรึไม่อีกเรื่องหนึ่ง

CentOS และ Scientific Linux มันคืออะไร

เนื่องจาก Linux นั้นเป็นโอเพ่นซอร์สและ RHEL ก็เช่นกัน และอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเราสามารถเข้าถึง Source ของ RHEL ได้ ดังนั้นจึงมีกลุ่มคนหรือองค์กรที่นำเอา Source มาคอมไพล์ให้และให้เราดาวน์โหลดใช้ได้ฟรีเลย และสองตัวที่เป็นที่นิยมได้แก่ CentOS และ Scientific Linux

  • CentOS CentOS Linux
    • เป็นเหมือน Distro มาตราฐานไปแล้วสำหรับผู้ที่ต้องการใช้เป็น Server แต่ไม่ต้องการเสียเงินซื้อ RHEL สังเกตุได้จาก Web Hosting ต่างๆมักเลือกใช้
    • Virtualisation/Cloud ก็รองรับได้ดี
    • มีแหล่งข้อมูล, หนังสือ, Community, และ Training ต่างๆมากมาย
    • ปัจจุบันค่อนข้างอัพเดทช้า RHEL ออกนานมากแล้ว กว่าที่ CentOS จะออกตาม อันนี้ต้องคอยติดตามข่าวสารนะครับ เพราะ CentOS ไม่ได้มีองค์กรที่แสวงหากำไรมาดูแลโดยตรง
    • ไม่เหมาะกับการเป็น Desktop ด้วยประการทั้งปวง เช่นเดียวกับ RHEL
  • Scientific Linux Red Hat Linux
    • เป็น Distro ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดย Fermi National Accelerator Laboratory และ the European Organization for Nuclear Research (CERN) เจ๋งไหมหล่ะ CERN เชียวนะ
    • มีโครงสร้างแพ็คเกจเหมือน RHEL แต่มีแพ็คเกจเสริมที่พิ่มเข้าไปเพื่อเรื่องของการศึกษาและการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์
    • ถ้าถามว่าเหมาะกับการเป็น Desktop ไหม ยังไงก็เหมาะกว่า RHEL และ CentOS ครับ แต่ก็คงไม่เท่ากับ Desktop Distro ตัวอื่นๆหรือ Fedora ครับ
    • มีการอัพเดทที่เร็วกว่า CentOS ในปัจจุบัน แต่ยังไงก็ต้องรอ RHEL ออกก่อนสักระยะ ถือว่าให้พวกเสียเงินซื้อ RHEL เป็นหนูทดลองบ้าง :p
    • มีองค์กรใหญ่ๆอย่าง CERN แบ็คอัพให้ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคตแล้ว

Red Hat and The Gang Recipe

  • Installation: Graphical
  • Default Desktop: GNOME
  • Packagement: RPM

Summary

หากอยากได้ Distro สักตัวหนึ่งที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ และจะได้ฝึกหัดเพื่อให้คุ้นเคยกับ RHEL เพื่อประโยชน์ในอาชีพการงาน หรือการไปสอบ Certified แล้วหล่ะก็ Fedora เป็นทางเลือกที่น่าสนใจครับ ถ้าต้องการ Environment ที่เหมือนกับ RHEL เลยก็ใช้ CentOS หรือ Scientific Linux ก็ได้ครับ อ๋อ Oracle Linux ก็นำเอา RHEL มาคอมไพล์เช่นกันนะครับ

Resources

ปล. ที่เค้าเรียก Linux Desktop กัน ไม่ได้หมายความว่าเอามาใช้กับ Notebook ไม่ได้นะครับ เค้าหมายถึงใช้งานเป็น Desktop ในชีวิตประจำวันที่ไม่ใช่ Server ครับ


Books By Me

JavaScript Programming Guide book cover

JavaScript Programming Guide
Thai language
Kontentblue Publishing

About This Site

I use this site to share my knowledge in form of articles. I also use it as an experimental space, trying and testing things. If you have any problems viewing this site, please tell me.

→ More about me

→ Contact me

→ Me on facebook

Creative Commons Attribution License

creative commons logo

This license lets you distribute, remix, tweak my articles, even commercially, as long as you credit me for the original creation.

ด้วยสัญญาอนุญาตินี้ คุณสามารถเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไขและนำบทความของผมไปใช้ แม้ในเชิงธุรกิจ ตราบใดที่คุณได้อ้างอิงกลับมาและให้เครดิตกับผม